โดยทั่วไปในสภาพท้องฟ้าที่ดีไม่มีเมฆหมอกหรือแสงไฟฝุ่นควันรบกวน เราสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว 6 ดวงต่อชั่วโมง ในหลายช่วงของปีจะมีดาวตกที่ดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า เรียกว่าฝนดาวตก (meteor shower)
ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางทิ้งไว้ ดาวตกที่เกิดจากสะเก็ดดาวเหล่านี้มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะของดาวตกที่เห็น และจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีอัตราต่ำเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงแต่ยังก็เรียกว่าฝนดาวตกเนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่สังเกตได้ว่าดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณหนึ่งบนท้องฟ้า จุดนั้นเรียกว่าจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) มักเรียกชี่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวหรือดาวที่อยู่ในบริเวณจุดกระจายฝนดาวตก
ฝนดาวตกกลุ่มดาวสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในปีนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน ที่น่าดูที่สุดอาจจะเป็นฝนดาวตกสิงโต จุดกระจายฝนดาวตกชุดนี้อยู่บริเวณหัวของกลุ่มดาวสิงโตซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียว นักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์ดาวตกหลายคนคำนวณพบว่าปีนี้โลกจะฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลทิ้งเอาไว้ในปี ค.ศ. 1466 และ 1533 ทำให้คาดหมายว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 1-2 ดวงต่อนาที (อาจมากกว่านี้ได้อีก) ในเวลาประมาณ 4.00-5.00 ของเช้ามืดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย รายละเอียดของผลการพยากรณ์จะนำเสนอต่อไปเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกคนคู่ในเดือนธันวาคมก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนมากทุกปีและไม่มีแสงจันทร์รบกวน จุดกระจายฝนดาวตกคนคู่อยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ ต้นกำเนิดของฝนดาวตกชุดนี้มาจากดาวเคราะห์น้อยฟีทอนซึ่งอาจเคยเป็นดาวหางมาก่อน
12 กันยายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น